มูลนิธิรามาธิบดี | ข่าวสาร

‘ให้’ เพื่อสังคมที่งดงามขึ้น

6 พฤศจิกายน 2560

 

คำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดของคำว่า ‘ให้’ ก็คือการหยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างแก่ผู้อื่น แต่ความหมายที่ซ่อนลึกลงไปมากกว่านั้น การให้หมายถึง ‘หัวใจที่เสียสละ’ ซึ่งไม่ว่าจะให้ในรูปแบบไหน การเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมเติบโตและงดงามขึ้น เหมือนเช่นที่ ‘ครูปาน สมนึก คลังนอก’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบ และ ‘คุณภาณุ อิงคะวัต’ นักสร้างสรรค์และนักออกแบบชื่อดัง เลือกที่จะหยิบยื่น ‘บางสิ่ง’ แก่ผู้อื่นและสังคม ผ่านความรู้ความสามารถที่ตัวเองมี

‘ให้’ ผ่านคุณค่าแห่งความสามารถ

สำหรับ ครูปาน สมนึก คลังนอก แล้ว การได้เป็นผู้ให้เป็นหนึ่งในแรงปรารถนาของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้เริ่มต้นหยิบยื่นแก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ทว่าสิ่งที่ได้รับกลับมากลับมีคุณค่ายิ่งกว่า นั่นคือความอิ่มเอมใจ การให้สำหรับครูปานจึงเกิดขึ้นในหลายโอกาสและหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถ่ายทอดความรู้จนถึงการแปรความรู้ความสามารถให้มีคุณค่าเชิงรูปธรรม ซึ่งหากได้ติดตามผลงานของศิลปินท่านนี้มาอย่างต่อเนื่องจะทราบว่า ‘การให้’ ในรูปแบบหลังนี้ ครูปานได้ร่วม ‘ให้’ กับมูลนิธิรามาธิบดีฯโดยออกแบบลวดลายเพื่อผลิตของที่ระลึกสำหรับจำหน่าย และนำรายได้สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ

“ครูปานคิดว่าชีวิตคนเราช่างสั้น เพราะฉะนั้นก็จะบอกตัวเองว่าจงใช้ชีวิตให้มีคุณค่าด้วยการทำตัวให้มีประโยชน์กับทั้งตัวเองและผู้อื่น สำหรับตัวเองแล้วรู้สึกภูมิใจที่เราได้ทำความฝันของเราเองให้สำเร็จ การจะทำชีวิตให้มีประโยชน์คงเริ่มต้นจากสิ่งนี้ให้ได้ก่อน จริงๆ แล้วในชีวิตนี้มีความตั้งใจอยู่ 3 ประการ เราตั้งใจไว้ว่าจะดูแลครอบครัวของเราให้อยู่สุขสบาย ทำชีวิตของตัวเราเองให้ดำเนินไปในแนวทางที่ดี ทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ และอีกสิ่งที่ตั้งใจไว้เสมอมาก็คือเราตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะช่วยเหลือผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งภูมิใจมากที่วันนี้เราได้ทำทั้งสามอย่างที่เราตั้งใจไว้ในชีวิตแล้ว

ส่วนตัวชอบวาดรูปมาแต่ไหนแต่ไร แต่งานทุกงานของคนทุกคนก็คงไม่ได้เป็นที่สนใจของผู้คนหมู่มากในวันแรกๆ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องอาศัยความพากเพียรและรอคอย ส่วนตัวแล้วก็ภูมิใจที่วันหนึ่งผลงานของเราเป็นที่สนใจ มีคนติดตาม มีคนนำไปใช้งานในวาระต่างๆ หรือแม้แต่นำรูปเราไปทำเป็นการกุศล ซึ่งอย่างหลังนี้เรารู้สึกว่าเราเองก็ได้คืนกลับสู่สังคมด้วยความสามารถที่เราขยันหมั่นเพียรมาโดยแปรเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้อีกทาง ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่น่าภูมิใจและได้เห็นว่าความฝันและความสามารถของเราก็มีคุณค่า เรียกว่าคุ้มค่ากับการรอคอยสำหรับชีวิตนี้ที่เราและผลงานของเราได้เป็นส่วนหนึ่งของการให้”

ครูปานเป็นหนึ่งในศิลปินนักวาดที่เปลี่ยนคุณค่าจากความสามารถที่มีของตัวเองให้เป็น ‘การให้’ และคืนกลับสิ่งนี้เพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ความภูมิใจที่ได้รับในวันนี้จึงมีมากกว่าการที่มีผู้คนชื่นชมผลงาน แต่หมายถึงผลงานเหล่านั้นถูกเปลี่ยนเป็นประโยชน์กลับไปสู่สังคมและผู้คนอย่างไรบ้าง เหมือนเช่นที่ คุณภาณุ อิงคะวัต นักสร้างสรรค์และนักออกแบบอีกท่านที่ชีวิตกับ ‘การให้’ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ซึ่งได้เปลี่ยนพลังจากความสามารถให้เป็นคุณค่าที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับสังคมด้วยเช่นกัน


“ชีวิตคนเรามีหลายด้าน จากการศึกษาหาความรู้ จนถึงการแสวงหาโอกาสทางการงาน แต่เมื่อใช้ชีวิตมาถึงจุดหนึ่งก็เป็นจุดที่เราต้องหันมามองมากขึ้นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราจะมีบทบาทช่วยสังคมที่เราเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไรบ้าง จริงๆ แล้วคนรอบๆ ตัวหลายคน เขาก็ตั้งใจทำอะไรดีๆ เพื่อสังคมมากมาย จนเราเองก็ต้องหันกลับมามองตัวเองเหมือนกันว่าเราทำอะไรเพื่อสังคมของเราบ้าง ผมเริ่มต้นจากแนวคิดนี้และทำจากสิ่งเล็กน้อยที่เราทำได้ ที่ผ่านมามีโอกาสเข้าไปทำโครงการหนึ่งชื่อ ‘เครือข่ายพลังบวก’ ในช่วงที่บ้านเมืองเรามีความแตกแยกมาก ทางกลุ่มคนโฆษณาและทำงานสร้างสรรค์จึงรวมตัวกันเพื่อตั้งเครือข่ายพลังบวก โดยมีจุดมุ่งหมายในการสื่อสารให้คนไทยหันหน้าเข้ามาหากันและลดความขัดแย้ง ผมมองว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้ที่เราสามารถคืนกลับให้กับสังคมได้ จริงๆ ‘การให้’ คือการเสียสละ เราไม่จำเป็นต้องให้ด้วยเงินทองเสมอไป แต่การให้ด้วยเวลาแรงงาน หรือความรู้ความสามารถ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้อย่างมหาศาล

ทางเกรย์ฮาวด์และทีมดีไซเนอร์เองก็มีโอกาสได้คืนกลับความรู้ความสามารถที่เรามีให้กับสังคม โดยร่วมกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายและหารายได้เข้ามูลนิธิฯ ซึ่งเราได้ทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปีในนามของสมาคม Bangkok Fashion Society (BFS) หรือทางฝั่ง Greyhound Café เองก็ทำโครงการต่อเนื่องเพื่อช่วยหารายได้ให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วย โดยในแต่ละปีเราจะเชิญศิลปินเข้ามาร่วมวาดภาพให้กับลูกค้าภายใต้โครงการ ‘Hip Dinning’ และ ‘Hip Drawing’ แล้วนำรายได้บางส่วนมอบให้แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ผมว่าเมื่อเราเริ่มมองเห็นว่าแท้จริงแล้วเราทุกคนต่างก็เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในสังคม ไม่มีใครเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งที่คนอื่นจะมาหมุนรอบตัวเราตลอดเวลา เมื่อนั้นเราจะเริ่มรู้สึกว่าอยากให้และทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเดียวกัน องค์กรเดียวกัน หรือแม้แต่ในระดับสังคมที่ใหญ่ขึ้น”

การให้ในความหมายของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันออกไป แต่การให้ในมุมของศิลปินสองท่านนี้ ในบางครั้ง ‘การให้’ ก็เหมือนการจุดประกายพลังเพื่อทำให้ ‘การให้’ เกิดขึ้นและส่งต่อไปไม่รู้จบ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลให้ในแต่ละปีมีศิลปินและนักออกแบบชื่อดังหลากหลายท่าน ร่วม ‘ให้’ กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วยการออกแบบลวดลายสำหรับให้มูลนิธิฯ ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อจัดจำหน่ายและนำรายได้สมทบทุนโครงการต่างๆ ของมูลนิธิฯ ซึ่งไม่เพียงแค่ครูปาน สมนึก คลังนอก หรือคุณภาณุ อิงคะวัต เท่านั้น แต่ยังมีศิลปินนักออกแบบอีกหลายคนที่เห็นคุณค่าของพลังแห่งการให้ในรูปแบบนี้ และร่วมส่งต่อกับมูลนิธิรามาธิบดีฯไม่ว่าจะเป็น ‘ม.ล.จิราธร จิรประวัติ’ (ครูโต) ‘คุณภัทรีดา ประสานทอง’(แป้ง) ‘คุณนวลตอง ประสานทอง’ (นวล) เป็นอาทิ โดยรายได้จากการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีลวดลายซึ่งออกแบบโดยศิลปินชื่อดังเหล่านี้ นอกจากจะนำมาสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีผ่าน ‘โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้’ แล้ว ยังได้ร่วมสมทบทุน ‘โครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์’ โรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ที่พร้อมสานต่อการให้ ทั้งให้การศึกษา ให้การรักษา และให้ชีวิต โดยนอกจากจะนำมาสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีผ่าน ‘โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้’ แล้ว ยังได้ร่วมสมทบทุน ‘โครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์’ โรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ที่พร้อมสานต่อการให้ ทั้งให้การศึกษา ให้การรักษา และให้ชีวิต โดยนอกจากจะเป็นโรงพยาบาลที่พร้อมสำหรับการรักษาพยาบาลแล้ว ในอนาคตยังเป็นศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะเพิ่มศักยภาพในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นกำลังของชาติ และส่งเสริมการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยให้ยั่งยืนขึ้น

ปัจจุบันสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและจัดซื้อคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์จำนวนมาก การที่ศิลปินและนักออกแบบได้เข้ามาร่วม ‘ให้’ โดยเริ่มต้นจากความรู้ความสามารถที่พวกเขามี จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าและงดงามอย่างมาก เพราะดอกผลในอนาคตจะยิ่งใหญ่ขึ้นและยังประโยชน์มหาศาลต่อสังคม
‘สะพานแห่งการให้’ ไม่สิ้นสุด

สิ่งที่น่ายินดีอย่างหนึ่งในวันนี้คือ ผู้คนเห็นคุณค่าของการให้และการหยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างแก่ผู้อื่นในสังคมมากขึ้น ‘ให้’ ในความหมายที่มากกว่าแค่บริจาคทรัพย์ แต่หมายถึงเริ่มต้นให้ผ่านหัวใจที่เสียสละและการคืนกลับสู่สังคมผ่านคุณค่าจากความสามารถที่มี ซึ่งผลที่ได้รับกลายเป็นความงดงามและยั่งยืนขึ้น เหมือนเช่นที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้รับความงดงามเหล่านั้น คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่าความดีงามอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นผ่านการให้ คือการที่สิ่งนั้นเริ่มต้นมาจากการมองเห็นประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าตัวเอง

 “สังคมประกอบไปด้วยสองส่วน นั่นคือ ผู้รับและผู้ให้ สำหรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ แล้วเราภูมิใจเสมอในฐานะที่ได้เป็นผู้ให้ เราได้เป็นสื่อกลางในการให้ การให้ที่ได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม มูลนิธิรามาธิบดีฯ เองเรามองว่าการให้ชีวิตคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่เพื่อนมนุษย์สามารถมอบให้กันได้ ในฐานะที่ได้สัมผัสโดยตรงกับผู้รับ เรารู้สึกภูมิใจอย่างมากที่ได้เห็นว่าหลายคนได้ชีวิตใหม่กลับคืนไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวงจรที่ดีงาม เพราะผู้รับที่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ วันหนึ่งตัวเขาเองก็หวนกลับมาเป็นผู้ให้ได้เหมือนกัน สำหรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ แล้ววันนี้เราก็ไม่ได้ทำเพียงแค่ในส่วนของการรักษา แต่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ที่ยั่งยืนขึ้น โดยเข้าไปสนับสนุนการทำงานของแพทย์และการศึกษาวิจัย ซึ่งสิ่งผลต่อภาพรวมของวงการแพทย์ นักศึกษาแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาออกไปก็กระจายตัวออกไปยังส่วนอื่นของประเทศ องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยก็กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับส่วนรวม เราจึงมองว่านี่คือหนึ่งในวัฏจักรของการให้ที่ดีงามของสังคมด้วยเช่นกัน 

การทำสิ่งไหนก็ตามที่เรามองถึงผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ย่อมเป็นสิ่งที่งดงามและมีคุณค่า การเป็นสื่อกลางของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เราก็มีโอกาสได้เห็นผู้ให้และหัวใจของการเป็นผู้ให้ในหลายกรณี เคยมีโอกาสได้เห็นบางคนที่เข้ามาบริจาคที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วยเงินหลักแสนบาท แต่ตัวเขากลับนั่งรถเมล์มาด้วยตนเอง การที่เขายอมเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัวและทำเพื่อผู้อื่นถึงเพียงนี้ เป็นเรื่องงดงามและยิ่งใหญ่มาก การที่เราให้คนอื่นแปลว่าเราเห็นแก่ตัวน้อยลง เราเห็นคุณค่าของผู้อื่นมากขึ้น หากเอ่ยโดยส่วนตัวแล้วก็รู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสได้เห็นความดีงามเหล่านี้ในสังคม เพราะถือเป็นพลังบวกสำหรับชีวิตด้วยเหมือนกัน”
สำหรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ แล้ว วันนี้จึงอยู่ในวัฏจักรที่งดงามของการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับด้วยเช่นกัน โดย ‘ให้’ การรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ขาดโอกาสในการรักษา และ ‘ให้’ ผ่านการสร้างแพทย์และองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เป็น ‘ผู้รับ’ โดยเป็นสื่อกลางสำหรับผู้ที่เห็นคุณค่าและพลังแห่งการให้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อสะพานแห่งการให้ต่อไปยังสังคม ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การบริจาคทรัพย์ แต่ยังหมายถึงการให้ผ่านความรู้ความสามารถ เพื่อแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า และมีพลังมากยิ่งขึ้น เหมือนเช่นที่ครูปาน สมนึก คลังนอก และคุณภาณุ อิงคะวัต รวมถึงศิลปินอีกหลากหลายท่านที่ได้ ‘ให้’ ผ่านความสามารถที่พวกเขามี

แน่นอนว่าเหล่านี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีงามได้ว่า เราหลายคน ณ ที่นี้ก็สามารถเปลี่ยนความรู้ความสามารถที่เรามีให้เป็น ‘พลังแห่งการให้’ เพื่อสังคมที่งดงามขึ้นได้เช่นเดียวกัน

ข้อมูลข่าววันที่ 3 พ.ย. 2560 จากลิ้งก์ https://www.thairath.co.th/content/1111455

 

เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์ อ่านเพิ่มเติม