มูลนิธิรามาธิบดี | เสียงจากใจผู้รับ

“แก้วตา ดวงใจ”

แก้วตา ดวงใจ”

  “ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าครึ่งชีวิต แต่ตอนเห็นลูกป่วยเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ คือช่วงเวลาที่ฉันทุกข์ทรมานที่สุดค่ะ” คำพูดของ ”คุณลดาวัลย์ สิทธิสร” ในวันที่สภาพร่างกายของเธอในตอนนั้นช่างดูอ่อนล้าหมดเรี่ยวหมดแรง สองมือเกาะขอบเตียงผู้ป่วย สองตาเหลียวมองไปยังลูกน้อยที่กำลังนอนป่วยตัวคุดคู้อยู่บนเตียงด้วยความห่วงใยอยู่เป็นระยะ คงไว้เพียงแต่คำพูดคำจาที่ยังคงฉะฉาน ตั้งหน้าตั้งตาเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับลูกสาวของเธอตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมาให้ผู้ฟังน้ำตาซึมไปตามๆกัน...
            เดือนมกราคม ปี 2552  ข่าวร้ายมาเยือนครอบครัวสิทธิสรอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งที่กลิ่นไอของช่วงเวลาแห่งความสุขในช่วงเริ่มต้นของปียังไม่ทันจะจางหายไป ภายหลังจากที่คุณลดาวัลย์ทราบว่าลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน หรือ “น้องมีสุข สิทธิสร” วัย 2 ขวบ มีอาการผิดปกติทางร่างกาย โดยในตอนแรกอาการทั่วไปแทบไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา แต่ที่ผิดสังเกตคืออาการที่ดูเรื้อรัง และไม่มีทีท่าว่าจะหายขาดได้ง่ายๆ ซึ่งภายหลังการตรวจอย่างละเอียดจากโรงพยาบาลในตัวจังหวัดชลบุรี จึงทำให้พบความจริงที่ทรมานหัวใจคนเป็นแม่อย่างเธอยิ่งนัก...ความจริงที่ว่าน้องมีสุขกำลังป่วยเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ ในขณะที่โลกของคนเป็นแม่ในตอนนั้นกำลังมืดมนไปทั่วทุกทาง
            หากพูดถึงโรคไขกระดูกฝ่อ น้อยคนนักที่จะรู้จักและทราบว่าความรุนแรงของโรคนี้เป็นอย่างไร แต่สถิติที่น่าตกใจคือในประชากรจำนวน 1 ล้านคน จะพบผู้ป่วยโรคนี้เพียงแค่หลักหน่วยเท่านั้น โดยปกติแล้วระบบภายในร่างกายของผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อจะไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดเองได้ ผลจากโรคทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวซีด เลือดออกตามร่างกาย และติดเชื้อง่าย หากมองในแง่ของความรุนแรงของโรค ก็คงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเป็นโรคร้ายแรงชนิดอื่นๆ ซึ่งแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน คือการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเท่านั้น
            “หนูจะหายไหมแม่?” ถ้อยคำไร้เดียงสาจากปากของน้องมีสุข ที่บาดลึกไปถึงหัวใจของผู้เป็นแม่ในทุกๆครั้งทีได้ยิน ความโศกเศร้าที่ปรากฎอยู่บนใบหน้าของคุณลดาวัลย์ในตอนนั้น คงเพียงพอที่จะเป็นคำตอบสำหรับเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี แต่แล้ว...ในวันที่ทุกอย่างช่างดูมืดมน ก็ยังมีโชคดีปรากฏให้เธอเห็น เมื่อโรงพยาบาลในตัวจังหวัดชลบุรีทำเรื่องส่งตัวลูกของเธอมารักษาต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะเห็นว่าเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ที่มีศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะที่ให้บริการทางด้านการแพทย์และการรักษาแก่ผู้ป่วยอย่างครบวงจร โดยในช่วง 3 ปีแรก แพทย์รักษาน้องมีสุขโดยการให้ทานยากดภูมิ   แต่ปัญหากลับเกิดขึ้นเมื่อมีการหยุดให้ยากดภูมิชั่วคราว เพราะอาการน้องกลับทรุดลงหนักอีกครั้ง หนทางสุดท้ายแพทย์จึงเสนอวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อยื้อชีวิตดวงน้อยๆนี้ไว้
            เรื่องราวต่างๆเหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดี หากไม่ต้องมาประสบกับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาเสียก่อน         คุณลดาวัลย์จึงรับจ้างทำงานทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินจำนวนมากพอที่จะมารักษาลูก แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อค่ารักษาที่สูงกว่า    1 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการรักษา ทางงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลผ่านเงินบริจาคของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ทำให้น้องมีสุขได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2557  อย่างทันท่วงที...

เชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยด้วยการบริจาคเงินสมทบทุน
“โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ”
เพื่อร่วมสร้างปาฏิหาริย์ให้ผู้ป่วยยากไร้ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ให้กลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
บริจาคได้ที่ http://www.ramafoundation.or.th/give/donations/projects

เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์ อ่านเพิ่มเติม