มูลนิธิรามาธิบดี | เสียงจากใจผู้รับ

"ย้อนไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว ถ้าที่รามาฯ ไม่มีการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก เราคงไม่มีวันนี้"

 

คุณอตินุช อติกนิษฐ อดีตผู้ป่วยตับแข็งระยะสุดท้าย ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกรายแรกของโรงพยาบาลรามาธิบดี และประเทศไทย

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อตินุชเกิดมาเหมือนเด็กปกติ แต่ไม่นาน มารดาพบว่าน้องอุจจาระสีซีด

ผิวกายมีสีเข้มขึ้น เมื่ออายุครบ 1 เดือน จึงรีบพามาพบกุมารแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

แพทย์วินิจฉัยว่าอตินุชมีปัญหาเกี่ยวกับท่อน้ำดี ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

 

ช่วงหลังการผ่าตัด พบว่ามีภาวะตับแข็ง ซึ่งในขณะนั้น แพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่ระหว่างการศึกษา

เรื่องการปลูกถ่ายตับจากพ่อหรือแม่ให้ลูก นับเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น และคาดเดาผลลัพธ์ของการรักษาไม่ได้

แต่ผู้เป็นแม่อย่างคุณวรรณากลับไม่ได้หวาดกลัว ยินดีให้แพทย์ทำการรักษา เธอพูดแต่เพียงว่า “ขอให้คุณหมอทำดีที่สุดก็พอ”

 

ในปี 2544 คุณอตินุช อติกนิษฐ ในวัยเกือบ 2 ขวบ ที่ป่วยเป็นตับแข็งระยะสุดท้าย ได้รับการปลูกถ่ายตับ

ซึ่งเป็นตับส่วนหนึ่งของการบริจาคของผู้เป็นแม่ ทำให้อตินุชรอดชีวิต

นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทยและโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีการปลูกถ่ายตับในเด็ก โดยใช้ตับบริจาคจากพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิต

 

ใครจะไปเชื่อว่า เด็กหญิงอตินุชเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน  เคยต้องเข้าห้องผ่าตัดนานกว่า 8 ชั่วโมง

อยู่ห้องไอ.ซี.ยู. เกือบ 7 วัน และนอนรักษาตัวในห้องปลอดเชื้อนานถึง 4 สัปดาห์

ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอสามารถเรียน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปกติ

 

“การค้นคว้าวิจัย” คือหนึ่งในพันธกิจสำคัญของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อหาทางป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ

ให้พ้นจากความเจ็บป่วย ซึ่งจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยราคาสูง

 

ทุกท่านที่ร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ คือ “ผู้ให้คนสำคัญ” ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วย และวางรากฐานสาธารณสุขให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์ อ่านเพิ่มเติม